วันจันทร์ที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2556

อาการปวดท้อง โรคฮิตของโลก


อาการปวดท้อง เป็นหนึ่งในอาการยอดฮิตที่หลาย ๆ คนเป็น บางคนปวดท้องอยู่เป็นประจำ แต่ก็ไม่ได้ใส่ใจเพราะมักคิดว่า อาการปวดท้อง เป็นแล้วเดี๋ยวก็คงจะหายไปเอง แต่รู้ไหมว่า อาการปวดท้องบางอย่าง ก็เป็นสัญญาณเตือนภัยที่ร่างกายกำลังบอกคุณว่า ควรจะไปพบแพทย์ได้แล้ว เช่นนั้นแล้ว มาดูกันดีกว่าว่า อาการปวดท้องบอกโรคอะไรได้บ้าง แล้วคุณควรจะไปพบแพทย์เมื่อไหร่


สาเหตุของอาการปวดท้อง

          ปวดท้องเกิดได้จากหลายสาเหตุ อาการอาจเป็นแค่ปวดเล็กน้อย หรือปวดมากและรุนแรงมากได้ อาการปวดมักจะไม่จำเพาะเจาะจง อวัยวะในช่องท้องอาจมีหลายอย่าง อาการปวดท้องอาจสัมพันธ์กับอวัยวะโดยตรง เช่น กระเพาะปัสสาวะ รังไข่ โดยทั่วไปอาการปวดท้องเกิดจากอวัยวะในระบบทางเดินอาหาร ยกตัวอย่างเช่น ไส้ติ่งอักเสบ ท้องเสีย อาหารเป็นพิษ เป็นต้น ลักษณะของอาการปวดท้องและตำแหน่งที่ปวด สามารถช่วยในการวินิจฉัยได้ เช่นเดียวกับความรุนแรงของอาการปวดท้อง และช่วงเวลาที่เกิดอาการปวดท้อง


ลักษณะอาการปวดท้อง

          อาจมีลักษณะปวดเสียด ปวดตื้อ ๆ ปวดบิด บางครั้งปวดไม่กี่วินาทีแล้วก็หายปวด หรือปวดท้องชนิดไม่หายสักที บางครั้งปวดท้องแล้วอาเจียน หลังจากได้อาเจียนอาจรู้สึกดีขึ้นบ้าง

          สาเหตุที่ทำให้ปวดท้อง อาจแบ่งเป็นชนิดเฉียบพลันและชนิดเรื้อรัง โรคที่คนส่วนใหญ่กลัว ได้แก่ ไส้ติ่งอักเสบ ถุงน้ำดีอักเสบ โรคแผลในกระเพาะอาหาร ภาวะการติดเชื้อ และอาการที่เกิดจากการตั้งครรภ์


โรคบางอย่างที่อาจต้องคำนึงถึงด้วย

          ได้แก่ โรคของหลอดเลือดขนาดใหญ่ในช่องท้อง อาการหัวใจวายเฉียบพลันและตับอักเสบ นิ่วในไต รวมทั้งโรคของลำไส้บางชนิด อาการปวดท้องอาจจะไม่ได้เกิดจากอวัยวะในช่องท้องเท่านั้น โรคหัวใจและปอดอักเสบอาจก่อให้เกิดอาการปวดท้องที่รุนแรงได้เช่นกัน ในเพศหญิงต้องนึกถึงสาเหตุจากอวัยวะในอุ้งเชิงกรานด้วย ผู้ป่วยที่เป็นโรคงูสวัดที่บริเวณท้องจะมีอาการปวดท้องที่รุนแรง โดยที่อวัยวะภายในไม่ได้มีความผิดปกติแต่อย่างใด และประสบการณ์สุดท้ายอาการเป็นพิษบางอย่างทำให้เกิดอาการปวดท้องได้ เช่น แมลงกัด สัตว์ต่อย

          โดยเฉลี่ยแล้วประมาณครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยที่มีอาการปวดท้อง จะตรวจพบสาเหตุที่ชัดเจน ในขณะที่อีกครึ่งหนึ่งที่มักจะตรวจไม่พบสาเหตุ และอาการอาจทุเลาน้อยลงไป โดยยังไม่ทราบแน่ชัดว่าปวดท้องจากสาเหตุอะไร แต่ถ้ายังคงมีอาการปวดท้องอยู่ ส่วนใหญ่จะพบสาเหตุในเวลาอีกไม่นานต่อมา


อาการปวดท้องที่ควรไปพบแพทย์

           1.ปวดนานมากกว่า 6 ชั่วโมงแล้วอาการเป็นมากขึ้น

           2.ปวดจนทานอาหารไม่ได้

           3.ปวดท้องและอาเจียนอย่างมาก มากกว่า 3-4 ครั้ง

           4.อาการปวดท้องเป็นมากขึ้นเมื่อขยับตัว

           5.ปวดท้องที่บริเวณท้องน้อยด้านขวา

           6.อาการปวดท้องรุนแรงจนทำให้นอนไม่ได้

           7.อาการปวดร่วมกับเลือดออกจากช่องคลอด

           8.มีไข้ร่วมด้วย


คำแนะนำสำหรับการปฏิบัติตัวของผู้ปวดท้อง

           1.รับประทานยาตามแพทย์สั่ง

           2.รับประทานอาหารที่ย่อยง่าย งดนม อาหารรสจัด น้ำผลไม้

           3.ถ้ายังมีอาการต่อไปนี้ คือ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้องน้อยด้านขวามากขึ้น หลังทานยาแก้ปวดไปแล้ว 2 ชม. ให้รีบกลับมาพบแพทย์ทันที

           4.โปรดกลับไปโรงพยาบาลเพื่อตรวจตามที่แพทย์นัด

เราสามารถแบ่งบริเวณที่ปวดท้องได้เป็น 9 ส่วน คือ 

 1. ชายโครงขวา คือ ตับและถุงน้ำดี อาการที่พบมักจะกดแล้วเจอก้อนแข็งร่วมกับอาการตัวเหล ือง ตาเหลือง ซึ่งสันนิษฐานเบื้องต้นได้ว่า อาจเป็นโรคเกี่ยวกับตับหรือถุงน้ำดี เช่น ตับอักเสบ ฝีในตับ ถุงน้ำดีอักเสบ 

 2. ใต้ลิ้นปี่ คือ กระเพาะอาหาร ตับอ่อน ตับ และกระดูกลิ้นปี่ 
- ปวดเป็นประจำเวลาหิวหรืออิ่ม อาจเป็นโรคเกี่ยวกับกระเพาะ 
- ปวดรุนแรงร่วมกับคลื่นไส้อาเจียน อาจเป็นโรคตับอ่อนอักเสบ 
- คลำเจอก้อนเนื้อค่อนข้างแข็งและมีขนาดใหญ่ อาจหมายถึงตับโต - คลำได้ก้อนสามเหลี่ยมแบนเล็กๆ มักเป็นกระดูกลิ้นปี่ 

 3. ชายโครงขวา คือ ม้าม ซึ่งมักจะคลำเจอก้อนเนื้อบริเวณนี้ 

 4. บั้นเอวขวา คือท่อไต ไต ลำไส้ใหญ่ 
- ปวดร่วมกับถ่ายอุจจาระผิดปกติหรือถ่ายเป็นเลือด อาจเป็นเพราะลำไส้ใหญ่อักเสบ 
- ปวดร้าวถึงต้นขา อาจเป็นนิ่วในท่อไต 
- ปวดร่วมกับปวดหลัง มีไข้ หนาวสั่น ปัสสาวะขุ่น อาจเป็นกรวยไตอักเสบ 
- คลำเจอก้อนเนื้อ อาจเป็นไตโตผิดปกติหรือเนื้องอกในลำไส้ใหญ่ 

 5. รอบสะดือ คือ ลำไส้เล็ก มักพบในโรคท้องเดินหรือไส้ติ่งอักเสบ (ก่อนจะย้ายมาปวดท้องน้อยขวา) แต่ถ้าปวดแบบมีลมในท้อง ก็อาจเป็นเพราะกระเพาะลำไส้ทำงานผิดปกติ 

 6. บั้นเอวซ้าย คือ ท่อไต ไต ลำไส้ใหญ่ (เหมือนข้อ 4) 

 7. ท้องน้อยขวา คือ ไส้ติ่ง ท่อไต และปีกมดลูก 
- ปวดเกร็งเป็นระยะ ร้าวมาที่ต้นขา อาจเป็นเพราะมีก้อนนิ่วในกรวยไต 
- ปวดเสียดตลอดเวลา กดแล้วเจ็บมาก มักเป็นไส้ติ่งอักเสบ 
- ปวดร่วมกับมีไข้สูง หนาวสั่น มีตกขาว มักเป็นเพราะปีกมดลูกอักเสบ 
- คลำแล้วเจอก้อนเนื้อ อาจเป็นก้อนไส้ติ่งหรือรังไข่ผิดปกติ 

 8. ท้องน้อย คือ กระเพาะปัสสาวะและมดลูก 
- ปวดเวลาถ่ายปัสสาวะหรือถ่ายกระปริบกระปรอย มักเป็นเพราะกระเพาะปัสสาวะอักเสบ หรือนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ 
- ปวดเกร็งเวลามีประจำเดือน เป็นอาการปวดประจำเดือน แต่ในรายที่ปวดเรื้อรังในหญิงแต่งงานแล้วไม่มีบุตร อาจเป็นเนื้องอกในมดลูก 

 9. ท้องน้อยซ้าย คือ ปีกมดลูกและท่อไต 
- ปวดเกร็งเป็นระยะและร้าวมาที่ต้นขา มักเป็นนิ่วในท่อไต 
- ปวดร่วมกับมีไข้ หนาวสั่น ตกขาว เป็นเพราะมดลูกอักเสบ 
- ปวดร่วมกับถ่ายอุจจาระผิดปกติ อาจเป็นเพราะลำไส้ใหญ่อักเสบ 
- คลำพบก้อนร่วมกับอาการท้องผูกเป็นประจำ อาจเป็นเนื้องอกในลำไส้ 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น